แกนนำพรรคการเมือง แสดงความเห็นหลังบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีผลบังคับใช้
มีความเคลื่อนไหวจากแกนนำพรรคการเมือง แสดงความเห็นหลังบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมีผลบังคับใช้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะทำให้พรรคใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยได้เปรียบหรือไม่ว่า ไม่รู้เลย เมื่อ 2 ใบ ก็ต้อง 2 ใบก็ต้องเลือกและสู้กันไป ส่วนจะได้เปรียบหรือไม่ได้เปรียบก็ไม่รู้ ต้องถามประชาชนดู
ส่วนจะเข้าทางพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ต้องถามประชาชน ซึ่งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อม และในขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเมื่อไหร่
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า ตัวบุคคลจะมีความสำคัญสำหรับบัตรใบเดียว แต่พรรคการเมืองก็ดูเหมือนจะถูกด้อยค่าลงไป หลักการประชาธิปไตยนั้น พรรคการเมืองควรเป็นสถาบัน หรือกลไกที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น เพราะถ้าพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ไม่มีความสำคัญ ประชาธิปไตยก็จะไปยาก เมื่อเป็นแบบบัตร 2 ใบแล้ว ก็คิดว่าจะทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญขึ้น การลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากประชาชนจะพิจารณาตัวบุคคลแล้ว ก็ต้องพิจารณาพรรคการเมืองด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี และประชาธิปัตย์สนับสนุนมาตลอด
"มาถึงวันนี้เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการสร้างความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะต้องปรับโครงการหรือไม่ คงไม่ต้องปรับอะไร เพราะเราก็เคยคุ้นกับระบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มาแก้เป็นบัตรใบเดียวอันนั้นเราต้องปรับตัว ทุกพรรคต้องปรับตัว แต่ถ้าย้อนกลับไปใช้บัตร 2 ใบ มันเป็นสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว ประชาชนก็เข้าใจดีอยู่แล้ว บัตรใบที่ 1 ก็เลือกบุคคล บัตรใบที่ 2 ก็เลือกพรรคการเมือง มันมีความชัดเจนในตัวของมัน" นายจุรินทร์ กล่าว
ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถือเป็นการเปิดทางให้พรรคการเมือง ได้มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น เพราะว่าในการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรแตกต่างไปจากเดิม และเรารู้ว่าผู้แทนหรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นกลุ่มคนที่นำปัญหาของประชาชนเข้าสู่สภาได้มากที่สุด การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีการคำนึงถึงข้อเรียกร้องของประชาชน และปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ได้รับการแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรมากยิ่งขึ้น นี่คือความแตกต่าง ถ้าจะเรียบเรียงตั้งแต่ พ.ศ.2554 ที่มีการเลือกตั้งใช้รัฐธรรมนูญปี 50 เรามี ส.ส.ระบบเขต 375 คน บัญชีรายชื่อ 125 คน แต่พอมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีความผิดเพี้ยน มี ส.ส.เขตลดน้อยลง ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพื่อไทยเห็นความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง อยากให้ประชาชนได้ไว้วางใจว่านี่คือก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงทั้งรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นปัญหาอยู่ให้มีการจุดประกายเป็นการปลอดล็อค เพื่อที่จะแก้ไขในปัญหาอื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ในส่วนของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหลังจากนี้ 15 วัน จะต้องจะมีการส่งให้คณะรัฐมนตรี ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะผ่านที่ประชุม กกต. ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและประชาชน ส่วนรายละเอียดร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ จะมีการปรับแก้อีกครั้ง หลังจากเสนอคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ยังให้คำตอบไม่ได้ ต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีตามกฎหมายก่อน