ผลการเลือกตั้ง อบต. 2564 ทั่วประเทศ ใครคว้าชัยกันบ้าง เช็กได้ที่นี่เลย!
ตรวจสอบผลการเลือกตั้ง อบต. 2564 ทั่วประเทศ กันได้แบบง่ายๆ แค่ไม่กี่คลิกก็รู้ผลคะแนนว่าใครชนะในพื้นที่ไหนกันบ้าง ซื้อหวย
เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ทั่วประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,300 แห่ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับ อบต. เป็นครั้่งแรกในรอบกว่า 8 ปี โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนเสียง ตั้งแต่เวลา 08.00 น. -17.00 น.
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 18.00 น. ของเมื่อวานนี้ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าว "ภาพรวมการปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศ" โดยภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และขอขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. อย่างพร้อมเพรียง ภายใต้การปฏิบัติตัวตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ได้ร่วมทำข่าว สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. ได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม Sanook News ขอถือโอกาสนี้แนะนำเว็บไซต์เพื่อติดตามผลการเลือกตั้ง อบต. 2564 ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- คลิกเข้าไปที่ลิงก์เว็บไซต์ https://ele.dla.go.th/public/score.do
- เลือกที่ แถบผลคะแนน ด้านบน
- เลือกจังหวัด / อำเภอ / และตำบล ตามลำดับ
- คลิก เลือกค้นหา
- ตรวจสอบผลคะแนน เลือกตั้งนายก อบต. / สมาชิก อบต.
หลังจากนั้น ระบบจะการรายงานข้อมูลการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิ บัตรดี บัตรเสีย จำนวนบัตรผู้ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
ทั้งนี้ กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่ว้นเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม หากมีการร้องเรียนจะไต่สวนและประกาศไม่ช้ากว่า 60 วันถึงผลการเลือกตั้ง หรือให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น แล้วแต่กรณีโดยเร็ว ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 17
กรณีที่ประชาชนไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต.
อย่าลืม! แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main หรือยื่นหนังสือแจ้งเหตุฯ ต่อนายทะเบียนอำเภอด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
- กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้
หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ 6 ประการ ดังนี้
- สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น (ส.ถ.) หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น (ผ.ถ.) หรือ สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
- สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง